ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาล


ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาล

Introduction to Nurse Call System

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถรัตน์ นาวิกาวตาร     

สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

19/1 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม. 10160

 

บริษัท ซีคูเทค จำกัด 49/172 หมู่ 5 ถนนพุทธมณฑลสาย 4

เเขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กทม. 10170

E-mail: secutech@hotmail.com

1. บทนำ
2. การทำงานของระบบเรียกพยาบาล
3. ประเภทของระบบเรียกพยาบาล
4. หน้าที่และลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ
5. 
การติดตั้งระบบเรียกพยาบาล
6. การซ่อมและดูแลรักษาระบบเรียกพยาบาล
7. บทสรุป
8. ประวัติผู้เขียน 

 

1. บทนำ

          ระบบเรียกพยาบาล คือระบบที่ถูกใช้สำหรับการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเรียกขอความช่วยเหลือและสื่อสารกับผู้ดูแลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ระบบเรียกพยาบาลถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางในสถานพยาบาลเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานของสถานพยาบาล คุณสมบัติของระบบเรียกพยาบาลที่ดีจะต้องง่ายต่อการใช้งาน มีความน่าเชื่อถือสูง โดยมีความต้องการทั่วไปในการติดตั้งระบบเรียกพยาบาล เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยจากห้องผู้ป่วย หรือเตียงผู้ป่วยกับผู้ดูแล หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินจากห้องน้ำของผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การเรียกสามารถทำได้ทั้งการแสดงผลเป็นสัญญาณเสียงและสัญญาณแสง หรือสามารถพูดติดต่อกันได้

          บทความนี้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเรียกพยาบาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจหลักการทำงาน และหน้าที่ของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ โดยหวังให้เกิดประโยชน์ต่อ ผู้ใช้งาน, ผู้ออกแบบ และผู้ซ่อมแซมดูแลรักษาระบบ โดยเนื้อหาจะถูกแบ่งเป็น 8 ส่วน คือส่วนแรกบทนำ ส่วนที่สองจะกล่าวถึงของการทำงานของระบบเรียกพยาบาล ส่วนที่สามกล่าวถึงประเภทของระบบเรียกพยาบาล ส่วนที่สี่จะกล่าวถึงหน้าที่และลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ ส่วนที่ห้าจะกล่าวถึงการติดตั้งระบบเรียกพยาบาล ส่วนที่หกจะกล่าวถึงการซ่อมดูแลรักษา ส่วนที่เจ็ดคือบทสรุป และส่วนสุดท้ายคือประวัติผู้เขียน

 

2. การทำงานของระบบเรียกพยาบาล

พยาบาลหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจะรับทราบสัญญาณการเรียกจากเตียงผู้ป่วยหรือห้องน้ำของผู้ป่วยได้จากเครื่องสถานีหลัก (Master Station) ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำงานของพยาบาล หรือโคมไฟที่ติดอยู่ที่หน้าห้องผู้ป่วย (Corridor Lamp)  เมื่อมีการกดเรียกจากผู้ป่วยสัญญาณเสียงที่เครื่องสถานีหลักจะดังขึ้นพร้อมกับสัญญาณไฟ (Call Lamp) หรือตัวเลขแสดงให้ทราบตำแหน่งเตียง

พยาบาลสามารถพูดติดต่อกับผู้ป่วยได้ในกรณีเป็นการเรียกจากเครื่องสถานีย่อย (Sub Station) หรือชุดหัวเตียงที่สามารถโต้ตอบได้โดยการกดปุ่มตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงและยกหูฟังโทรศัพท์ (Telephone Handset) เมื่อมีผู้ป่วยส่งสัญญาณเรียกมา ในระหว่างการสนทนาหากมีการเรียกจากผู้ป่วยเตียงอื่น เครื่องสถานีหลักจะยังสามารถแสดงสัญญาณเรียกได้เพื่อรอการสนทนาในลำดับถัดไป การเรียกพยาบาลจากเตียงผู้ป่วยแสดงดังรูปที่ 1

พยาบาลสามารถเป็นผู้พูดติดต่อไปยังผู้ป่วยได้ในกรณีเป็นชุดหัวเตียงที่สามารถโต้ตอบได้โดยการกดปุ่มเลือกตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงที่ต้องการติดต่อและยกหูฟังโทรศัพท์เพื่อสนทนากับผู้ป่วย และสามารถกดปุ่มเลือกตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงได้หลายปุ่มเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยในลักษณะประกาศให้ผู้ป่วยรับข้อมูลพร้อมกันเป็นกลุ่ม

การคืนสถานะของระบบให้กลับสู่สภาวะปกติ ทำได้โดยการวางหูฟังโทรศัพท์เข้าที่เก็บหรือโดยการกดปุ่มตำแหน่งเตียงหรือเลขตำแหน่งเตียงเพื่อคืนสถานะของระบบให้กลับสู่สภาวะปกติ และยังสามารถคืนสถานะของระบบได้จากการกดปุ่มยกเลิกจากชุดหัวเตียง

 

 

รูปที่ 1 การเรียกพยาบาลจากเตียงผู้ป่วย

 

กรณีที่ผู้ป่วยส่งสัญญาณเรียกจากห้องน้ำดังรูปที่ 2 ซึ่งถือเป็นการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่เครื่องสถานีหลักจะต้องไม่สามารถยกเลิกการเรียกได้ การคืนสถานะของระบบให้กลับสู่สภาวะปกติจะทำได้โดยการยกเลิกการเรียกที่ตำแหน่งสวิทซ์ฉุกเฉินเท่านั้นเพื่อเป็นการเจาะจงให้พยาบาลเข้าถึงผู้ป่วย

 

 

รูปที่ 2 การเรียกพยาบาลจากห้องน้ำ

 

3. ประเภทของระบบเรียกพยาบาล

ระบบเรียกพยาบาลสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะการรับส่งสัญญาณได้เป็น 3 ประเภท คือระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อก, ระบบเรียกพยาบาลแบบระบบดิจิตอล และระบบเรียกพยาบาลแบบไร้สาย และยังสามารถแบ่งย่อยตามลักษณะการสื่อสารได้อีก 2 ลักษณะ คือระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบทางเดียว และระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบสองทาง แต่ละแบบจะมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้จะต้องพิจารณาจากความต้องการของผู้ใช้งาน, ความเหมาะสมของแต่ละสถานที่ และงบประมาณ 

แบ่งประเภทตามลักษณะการรับส่งสัญญาณได้เป็น 3 ประเภท

3.1      ระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อก

หมายถึงระบบเรียกพยาบาลที่มีรูปแบบการส่งสัญญาณระหว่างเครื่องสถานีหลักกับอุปกรณ์อื่นในระบบ เป็นรูปแบบสัญญาณแบบอนาล็อก (Analog Signal) ซึ่งมีลักษณะสัญญาณแบบต่อเนื่อง (Continuous Data) มีขนาดของสัญญาณไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของสัญญาณแบบค่อยเป็นค่อยไปคล้ายเส้นโค้งต่อเนื่องกันไป ค่าเปลี่ยนแปลงไปของระดับสัญญาณจะมีความหมายต่างกันไป สัญญาณแบบอนาล็อกอาจจะถูกรบกวนได้ง่ายเนื่องจากค่าทุกค่าถูกนำมาใช้งาน ลักษณะเดียวกับสัญญาณเสียงในสายโทรศัพท์ สายสัญญาณสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องสถานีหลักกับชุดหัวเตียง จะถูกเชื่อมต่อเป็นแบบจุดต่อจุด (Point-to-Point)

3.2      ระบบเรียกพยาบาลแบบระบบดิจิตอล

หมายถึงระบบเรียกพยาบาลที่มีรูปแบบการส่งสัญญาณระหว่างเครื่องสถานีหลักกับอุปกรณ์อื่นในระบบ เป็นรูปแบบสัญญาณแบบดิจิตอล (Digital Signal) ซึ่งมีลักษณะสัญญาณแบบไม่ต่อเนื่อง (Discrete Data) ที่มีขนาดแน่นอนซึ่งขนาดดังกล่าวจะเปลี่ยนไปมาระหว่างค่าสองค่า คือสัญญาณระดับสูงสุดและสัญญาณระดับต่ำสุด รูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องสถานีหลักกับอุปกรณ์อื่นในระบบ จะถูกเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย (Network) แบบหลายจุด (Multipoint) เช่นการเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณเพียงแค่ 2 เส้น ในการสื่อสารแบบ RS485 (Recommended Standard no. 485)  หรืออาจจะเชื่อมต่อในลักษณะเดียวกับการสื่อสารในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network) กรณีระบบเรียกพยาบาลมีรูปแบบการสื่อสารเช่นเดียวกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อาจเรียกชื่อระบบว่า ระบบเรียกพยาบาลแบบไอพี (IP Nurse Call)

3.3      ระบบเรียกพยาบาลแบบไร้สาย

ระบบเรียกพยาบาลแบบไร้สาย มีทั้งระบบสื่อสารแบบทางเดียวที่ไม่สามารถโต้ตอบได้ และระบบการสื่อสารแบบสองทางที่สามารถโต้ตอบได้ ทำงานโดยอาศัยคลื่นความถี่ซึ่งจะต้องใช้ย่านความถี่ที่ไม่สร้างปัญหาให้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์เหมาะสำหรับหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยจำนวนไม่มากนัก เช่นในบ้านพักที่มีผู้สูงอายุ มีขีดจำกัดเรื่องการเดินทางของสัญญาณ, สัญญาณรบกวน และการดูแลรักษาระดับแบตเตอรี่ เป็นระบบที่ง่ายต่อการติดตั้งยืดหยุ่นต่อผู้ใช้งาน

แบ่งย่อยตามลักษณะการสื่อสารได้ 2 ลักษณะ

3.4      ระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบทางเดียว

การสื่อสารแบบทางเดียว หรือแบบซิมเพล็กซ์ (Simplex) เป็นการส่งสัญญาณทางเดียวเท่านั้น คือระบบเรียกพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเรียกขอความช่วยเหลือจากอุปกรณ์เรียกปลายทาง เพื่อส่งสัญญาณมายังเครื่องสถานีหลักได้ทางเดียวเท่านั้น พยาบาลสามารถรับรู้การขอความช่วยเหลือในลักษณะเสียงสัญญาณพร้อมไฟแสดงตำแหน่งหรือตัวเลขเตียงที่เรียกมา แต่จะไม่สามารถส่งสัญญาณใดๆ หรือพูดโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ เป็นระบบเรียกพยาบาลขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่ใช้กับหอผู้ป่วยเตียงรวม และห้องน้ำสำหรับผู้ป่วย

3.5      ระบบเรียกพยาบาลสื่อสารแบบสองทาง

 การสื่อสารแบบสองทาง หรือแบบฟลูดูเพล็กซ์ (Full Duplex) เป็นการรับส่งสัญญาณได้ทั้งสองทาง อาจเรียกอีกแบบว่า โทรศัพท์ภายใน (Intercom) คือระบบเรียกพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถเรียกขอความช่วยเหลือจากอุปกรณ์เรียกปลายทาง เพื่อส่งสัญญาณมายังเครื่องสถานีหลัก โดยพยาบาลสามารถใช้เครื่องสถานีหลักสำหรับพูดโต้ตอบกับผู้ป่วยได้ ทำให้ทราบความต้องการของผู้ป่วยทำให้การช่วยเหลือทำได้เร็วขึ้น อาจแบ่งได้อีกแบบ คือแบบฮาฟดูเพล็กซ์ (Half Duplex) คือระบบการสื่อสารกึ่งสองทางที่สามารถพูดโต้ตอบกันได้แต่ต้องผลัดกันพูดคล้ายวิทยุสื่อสาร

 

4. หน้าที่และลักษณะของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ

4.1      เครื่องสถานีหลัก (Master Station)

เป็นอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งไว้บริเวณเคาน์เตอร์พยาบาล ลักษณะการติดตั้งมีทั้งวางบนโต๊ะ และแขวนผนัง มีหน้าที่เป็นอุปกรณ์หลักในการรับรู้การเรียกจากผู้ป่วย ตัวเครื่องสถานีหลักมี 2 รูปแบบ แบบแรก คือเครื่องสถานีหลักที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมระบบในตัว และแบบที่สอง คือเครื่องสถานีหลักที่แยกหน่วยตัวควบคุม อาจจำแนกลักษณะตัวเครื่องสถานีหลักจากรูปแบบการแสดงผล เช่น เครื่องสถานีหลักแบบที่มีเฉพาะปุ่มฟังก์ชั่นต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสถานีหลักของระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อกดังแสดงในรูปที่ 3, เครื่องสถานีหลักแบบที่มีจอแสดงผลซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสถานีหลักของระบบเรียกพยาบาลแบบระบบดิจิตอลดังแสดงในรูปที่ 4

เครื่องสถานีหลักจะต้องมีคู่สายหรือจำนวนโซนเพียงพอสำหรับอุปกรณ์เรียกปลายทางสำหรับผู้ป่วยในระบบ เครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อกจะมีช่องสำหรับติดชื่อห้องหรือเตียงผู้ป่วย ส่วนเครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอลอาจจะมีการแสดงผลบนจอภาพ

 

   
รูปที่ 3 ลักษณะเครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อก     รูปที่ 4 ลักษณะเครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอล
ตัวเครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อกประกอบด้วย     ตัวเครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอลประกอบด้วย
-Hand set : โทรศัพท์สื่อสาร      -Talk Button : กดปุ่มเพื่อต้องการสื่อสาร
-Power LED : แสดงสภาวะของแหล่งจ่ายหลัก     -Voice : ใช้ปรับระดับเสียงสนทนา
-Power S/W : สวิตช์เปิด-ปิดระบบ     -Tone : ใช้ปรับระดับเสียงเรียก
-C-MIC : ไมโครโฟน      -Speaker : ลำโพง
-Busy LED : ไฟแสดงสถานะสายไม่ว่าง     -LED : ไฟแสดงตำแหน่งเตียงที่มีการเรียกเข้ามา
-Lock Button : ใช้ในการสื่อสารทางเดียวกับเตียงที่ต้องการ      -Selection Button : กดปุ่มเพื่อเลือกเตียงที่ต้องการสื่อสาร

 

เครื่องสถานีหลักแบบอนาล็อกจะมีจะมีปุ่มกด และไฟแสดงผลจำนานมาก ในขณะที่เครื่องสถานีหลักแบบดิจิตอลอาจจะมีการแสดงผลบนจอภาพเป็นลักษณะ GUI (Graphical User Interface) และสามารถกดบนหน้าจอ (Touch Screen)สำหรับการควบคุม เครื่องสถานีหลักของบางผลิตภัณฑ์จะสามารถออกรายงานประวัติการเรียกจากผู้ป่วยได้โดยการต่อเครื่องสถานีหลักเข้ากับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์

 

4.2 เครื่องสถานีย่อย (Sub Station)  

เครื่องสถานีย่อย หรือชุดหัวเตียงเป็นอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งไว้บริเวณหัวเตียงผู้ป่วย โดยทั่วไปถูกออกแบบให้มีช่องสำหรับต่อสายกดเรียกพยาบาล ในหลายๆ ผลิตภัณฑ์จะใช้เครื่องสถานีย่อยเป็นตัวกระจายสัญญาณไปยังอุปกรณ์โคมไฟและ สวิทซ์เรียกพยาบาลในห้องน้ำ สามารถแยกได้เป็น 2 รูปแบบ แบบแรกเครื่องสถานีย่อยที่ใช้ส่งสัญญาณเรียกพยาบาล ที่สามารถสื่อสารแบบสองทางดังแสดงในรูปที่ 5 ซึ่งมักถูกเลือกใช้ในห้องพิเศษ และแบบที่สอง คือเครื่องสถานีย่อยที่ใช้ส่งสัญญาณเรียกพยาบาลที่ส่งสัญญาณเรียกได้เพียงอย่างเดียวดังแสดงในรูปที่ 6 ซึ่งมักถูกใช้ในหอผู้ป่วยรวม หรือกรณีผู้ป่วยไม่ห่างจากพยาบาลมากนัก

 

 
รูปที่ 5 ลักษณะเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบสองทาง     รูปที่ 6 ลักษณะเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบทางเดียว

ตัวเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบสองทางดังรูปที่ 5 ประกอบด้วย

  ตัวเครื่องสถานีย่อยแบบสื่อสารแบบทางเดียวดังรูปที่ 6 ประกอบด้วย
-Speaker : ลำโพง    -Call lamp : ไฟแสดงสถานะการเรียกพยาบาล
-Call lamp : ไฟแสดงสถานะการเรียกพยาบาล   -Reset Button : ปุ่มยกเลิกการเรียก
-Call Button : ปุ่มเรียกพยาบาล   -Call Button : ปุ่มเรียกพยาบาล
-C-MIC : ไมโครโฟน   -Call jack : จุดเชื่อมต่อสายกดสัญญาณเรียกพยาบาล
-Cancel Button : ปุ่มยกเลิก    

 

4.3 สายกดเรียกพยาบาล (Call Cord)

เป็นอุปกรณ์ที่จะถูกติดตั้งโดยการเชื่อมต่อกับตัวเครื่องสถานีย่อย มีลักษณะเป็นสายสัญญาณที่ปลายสายมีสวิทซ์ปุ่มกดกระชับมือดังรูปที่ 7 มีความยาวสายที่เหมาะสมเพียงพอที่จะวางไว้ข้างมือผู้ป่วย สายยืดหยุ่น ไม่แข็งหรืออ่อนเกินไป บางผลิตภัณฑ์จะมีหัวต่อเป็นเกลียวป้องกันการดึงให้หลุดได้ง่าย บางผลิตภัณฑ์จะมีหัวต่อเป็นตัวเสียบสามารถดึงให้หลุดได้ การดึงหลุดจะมีสัญญาณเรียกหรือเตือนไปยังเครื่องสถานีหลักเสมือนการเรียกขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วย

ยังมีสายกดเรียกพยาบาลอีกประเภทที่ได้รวมฟังก์ชั่นสื่อสารมารวมสายกดโดยที่ปลายสายจะมีลักษณะเหมือนหูฟังโทรศัพท์ (Hand set) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสนทนากับพยาบาลได้ชัดเจนยิ่งมีอีกชื่อเรียกว่า ลำโพงข้างหมอน (Pillow Speaker) ดังรูปที่ 8

                             

 

                                                

               รูปที่ 7 สายกดเรียกพยาบาลข้างมือผู้ป่วย                  รูปที่ 8 สายกดเรียกพยาบาลข้างมือแบบสนทนาได้

 

4.4 สวิทซ์ฉุกเฉิน (Emergency Switch)

สวิทซ์ฉุกเฉินสำหรับเรียกพยาบาลจะถูกติดตั้งไว้ข้างผนังในห้องน้ำข้างสุขภัณฑ์ สวิทซ์ถูกออกแบบให้เป็นชนิดกันน้ำมีสวิทซ์สำหรับกดและมีเชือกความยาวใกล้พื้นสำหรับดึงสำหรับการเรียกขอความช่วยเหลือ เมื่อกดสวิทซ์หรือดึงเชือกที่ตัวสวิทซ์จะมีไฟ LED แสดงผลการทำงาน พยาบาลผู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือจะต้อง กดสวิทซ์เพื่อคืนสะถานะของระบบให้เป็นปกติทุกครั้ง การเรียกจากห้องน้ำจะถือเป็นเหตุฉุกเฉินบางผลิตภัณฑ์จะมีสัญญาณไฟและเสียงที่แตกต่างจากการเรียกจากหัวเตียง สวิทซ์ฉุกเฉินถูกแสดงดังรูปที่ 9

 

 

 

รูปที่ 9 สวิทซ์ฉุกเฉิน

 

4.5 โคมไฟหน้าห้อง (Corridor Light) 

โคมไฟหน้าห้องจะถูกติดตั้งไว้หน้าห้องผู้ป่วยเหนือประตูหรือฝ้าแพดานทางเข้าห้องเพื่อให้พยาบาลมองเห็นอย่างชัดเจนปัจจุบันจะเป็นโคมไฟชนิด LED บางผลิตภัณฑ์จะสามรถแสดงผลได้หลายสี เช่นสีเขียวเป็นการเรียกจากหัวเตียง สีแดงเป็นการเรียกจากสวิทซ์ฉุกเฉินในห้องน้ำลักษณะโคมไฟหน้าห้องถูกแสดงดังรูปที่ 10

 

 

รูปที่ 10 โคมไฟหน้าห้อง

 

4.6 จอแสดงผลช่องทางเดิน (Corridor Display)

จอแสดงผลช่องทางเดินจะถูกติดตั้งช่องทางเดินในหอผู้ป่วยเป็นชนิด จอ LED หรือ LCD จะแสดงเลขห้องเลขเตียงเมื่อมีการเรียกจากผู้ป่วย มีขนาดการแสดงผลเพียงพอที่จะสามารถให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่มองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 10 เมตร บางผลิตภัณฑ์จะมี จอ LED หรือ LCD ที่สามารถแสดงสีที่แตกต่างกันออกไปเพื่อบ่งชี้ชนิดของอุปกรณ์เรียก จัดลำดับความฉุกเฉินจากการเรียก ตัวอย่างจอแสดงผลช่องทางเดิน ถูกแสดงดังรูปที่ 11 

 

 

 

รูปที่ 11 จอแสดงผลช่องทางเดิน

 

4.7 อุปกรณ์เรียกพยาบาลแบบอื่นๆ

นอกจากอุปกรณ์เรียกพยาบาลรูปแบต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นยังมีอุปกรณ์เรียกพยาบาลและอุปกรณ์เสริมแบบอื่นๆ อีกหลายรูปแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในระบบ เช่นอุปกรณ์เรียกพยาบาลแบบสวิทซ์เท้า (foot switch), สวิทซ์ลมเป่า (blowing switch), สวิทซ์เสียง (peaking switch), สวิทซ์สัมผัส (touching switch), สวิทซ์จับเคลื่อนไหว (waving a hand switch) และสวิทซ์แสดงตำแหน่ง (present switch)

 

5. การติดตั้งระบบเรียกพยาบาล

 

ตำแหน่งการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบเรียกพยาบาลเป็นไปตามหน้าที่ของอุปกรณ์แต่ละตัวยังไม่มีมาตรฐานใดกำหนดไว้อย่างชัดเจน ผู้เขียนบทความจะให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองดังนี้

เครื่องสถานีหลักจะถูกติดตั้งบริเวณจุดรวมตัวของพยาบาลการติดตั้งจะต้องคำนึงถึงความสะดวกในการเข้าถึงตัวอุปกรณ์เป็นหลัก กรณีติดตั้งแบบวางบนโต๊ะความสูงจะเป็นไปตามมาตรฐานของโต๊ะพยาบาล กรณีแขวนผนังจะอยู่ในระดับความสูงจากพื้นช่วง 120-160 เซนติเมตร ควรถูกต่ออยู่กับแหล่งจ่ายไฟที่เชื่อถือได้ เช่นมีระบบสำรองไฟฟ้า และรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ส่วยใหญ่เครื่องสถานีหลักจะเป็นตัวกระจายไฟให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ในระบบ

เครื่องสถานีย่อยจะถูกติดตั้งบริเวณหัวเตียงข้างขวาของผู้ป่วยที่ความสูงอยู่ในช่วง 120-140 เซนติเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกในการต่อสายกดเรียกพยาบาล ทั้งนี้อาจจะมีอุปสรรคต่างๆ เช่นอุปกรณ์ก๊าซทางการแพทย์ ที่ทำให้ไม่สามารถติดตั้งในตำแหน่งดังกล่าวได้ตำแหน่งติดตั้งอาจเปลี่ยนไปเป็นหัวเตียงอีกข้างหนึ่ง หรือข้างเตียงก็ได้ ให้ยึดถือความสะดวกต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ

สวิทซ์ฉุกเฉินจะถูกติดตั้งให้ห้องน้ำใกล้โถส้วมบริเวณผนังข้างขวา ความสูงจากพื้นช่วง 120-160 เซนติเมตร ในการติดตั้งสวิทซ์ฉุกเฉินเชือกสำหรับดึงเรียกขอความช่วยเหลือควรจะมีความยาวใกล้พื้นความสูงจากพื้นถึงปลายสายดึง ไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานดึงได้ในกรณีล้มลง สวิทซ์ฉุกเฉินยังสามารถติดตั้งได้ในตำแหน่งใกล้สุขภัณฑ์อื่นเช่น อ่างล้างมือ หรือบริเวณที่อาบน้ำ โดยระยะการติดตั้งจะปรับเปลี่ยนไปตามประโยชน์ที่คาดหวังจะได้รับในตำแหน่งนั้นๆ แต่จะต้องหลีกเลี่ยงติดตั้งในตำแหน่งที่จะถูกน้ำแบบตรงตัว

โคมไฟหน้าห้องถูกติดตั้งบริเวณเหนือประตูทางเข้าห้องผู้ป่วยในระยะสูงจากวงกบประตู ในช่วง 10-20 เซนติเมตรและยังสามารถติดตั้งแบบยึดติดกับฝ้าแพดานได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามในการติดตั้งโคมไฟต้องประเมินตามพื้นที่นั้นๆ โดยยึดหลักการมองเห็นได้อย่างชัดเจนของพยาบาล ในกรณีที่การแสดงผลเป็นจอแสดงเลขห้องเลขเตียงจะติดตั้งแบบยึดติดกับฝ้าแพดานบริเวณทางเดิน


การเดินสายและขนาดสายเป็นไปตามคู่มือการติดตั้งของแต่ละผลิตภัณฑ์ อาจจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ คือระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อกดังแสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในรูปที่ 12 และระบบเรียกพยาบาลแบบดิจิตอลดังแสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในรูปที่ 13 การเชื่อมต่อสายในลักษณะที่ไม่มีขั้วต่อสายหรือหัวต่อให้ใช้วิธีบัดกรีแล้วสวมด้วยท่อหดลนไฟเพื่อลดปัญหาของระบบในระบบสื่อสารทุกจุดต่อคือจุดเสี่ยงระบบที่มีจุดต่อน้อยปัญหาก็จะน้อย สิ่งที่ไม่ควรมีคือจุดต่อของสายในระหว่างทาง

 

 


รูปที่ 12 แสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในระบบเรียกพยาบาลแบบอนาล็อก

 

 

 

รูปที่ 13 แสดงตัวอย่างการเชื่อมต่อสายสัญญาณในระบบเรียกพยาบาลแบบดิจิตอล

 

 

6. การซ่อมและดูแลรักษาระบบเรียกพยาบาล

 

ระบบเรียกพยาบาลเป็นระบบที่มีความสำคัญมากสำหรับการดูแลผู้ป่วยหากระบบมีความบกพร่องทำให้พลาดโอกาสในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันต่อเหตุการณ์ การดูแลรักษาเชิงป้องกัน (preventive maintenances) เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ระบบพร้อมใช้งานตลอดเวลา และลดการซ่อมในแบบเร่งด่วน การดูแลรักษาเชิงป้องกันควรทำในทุกๆ เดือน โดยมีขั้นตอนหลัก คือการตรวจสอบการใช้งานได้ของอุปกรณ์แต่ละตัว, ตรวจวัดหน่วยจ่ายไฟฟ้าของระบบ และทำความสะอาดอุปกรณ์

ข้อแนะนำการซ่อมระบบเรียกพยาบาลในกรณีระบบใช้งานไม่ได้ ให้เริ่มตรวจสอบจากหน่วยจ่ายไฟฟ้าของระบบ ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อใช้งานในระบบ ซึ่งใช้ไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันต่ำเช่น 12 VCD หรือ 24 VDC เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานแหล่งจ่ายไฟฟ้าของระบบอาจจะอยู่ในเครื่องสถานีหลัก หรือจะมีหน่วยจ่ายไฟฟ้าแยกส่วนขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ ระบบไฟฟ้าสำหรับระบบเรียกพยาบาลควรมีหน่วยสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply: UPS) เพื่อให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยป้องกันความเสียหายที่สามารถเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ หากหน่วยจ่ายไฟฟ้ายังทำงานปกติดีอยู่ให้อุปกรณ์ตรวจสอบเครื่องสถานีหลัก, เครื่องสถานีย่อย และอุปกรณ์ปลายทางอื่นๆ ต่อไป ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีอุปกรณ์ที่น่าสงสัยว่าจะมีปัญหาอาจใช้วิธีสลับตำแหน่งเพื่อยืนยันความเสียหาย หากยังไม่พบสาเหตุให้ลองปลดอุปกรณ์ปลายทางทีละตัวจนกว่าจะพบปัญหาของระบบ

 

7. บทสรุป      

 

เนื้อหาตามหัวข้อข้างต้นเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ ผู้เขียนบทความนำเสนอจากประสบการณ์ของผู้เขียน โดยผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการสำหรับเรื่องนี้มากนัก เรื่องมาตรฐานการติดตั้งก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนระบุไว้อย่างเจาะจงชัดเจน ในปัจจุบันระบบเรียกพยาบาลถูกใช้ในวงกว้าง ทั้งโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณะสุขทั่วประเทศ, โรงพยาบาลภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ, สถานีอนามัย, บ้านพักคนชรา และบ้านพักอาศัย โดยมีผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในประเทศเช่น COMMAX, AIPHONE, AUSTCO, FORTH และ CARECOM เป็นต้น ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องกับระบบเรียกพยาบาล ให้ผู้ใช้งานใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ให้ผู้ออกแบบเลือกรูปแบบลักษณะของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ให้ผู้ติดตั้งระบบมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบ ให้ผู้ดูแลระบบมีแนวทางในการซ่อมบำรุงรักษา

 

8. ประวัติผู้เขียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถรัตน์ นาวิกาวตาร

: อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ งานวิจัยที่สนใจ ระบบไฟฟ้า-สื่อสาร, ระบบควบคุม และการประยุกต์อภิศึกษาสำนึก

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคูเทค จำกัด

ดำเนินกิจการเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า-สื่อสาร เช่นระบบทีวีรวมระบบเรียกพยาบาล, ระบบโทรทัศน์วงจรปิด, ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้, ระบบควบคุมการเข้า-ออก, ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย, ระบบภาพและเสียง, ระบบโทรศัพท์ และระบบไฟฟ้า

ใบประกอบวิชาชีพ

: ระดับสามัญวิศวกร สาขา วิศวกรรมไฟฟ้างานไฟฟ้ากำลัง สฟก.4972

ปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

Visitors: 10,465